ประวัติศาสตร์เมืองเชียงใหม่
จังหวัดเชียงใหม่ – ความเป็นมา
เมืองเชียงใหม่ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๑๘๓๙ โดยพญามังรายและพระสหาย ได้แก่ พญางำเมือง และ พญาร่วง (พ่อขุนรามคำแหง) โดยทั้งสามพระองค์ได้ร่วมกันหารือเรื่องการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ ในพื้นที่ราบลุ่มริมแม่น้ำปิง บริเวณเชิงภูเชาสุเทพแทนที่เมืองหลวงเดิม (เวียงกุมกามในปัจจุบัน) ที่มักประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี จนกระทั่งได้ร่วมสถาปนาเมืองหลวงแห่งใหม่ของอาณาจักรล้านนาขึ้นมาและตั้งชื่อว่า “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” โดยอาณาจักรล้านนานั้นเป็นอาณาจักรโบราณที่ครอบคลุมพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศไทย รวมถึงบางส่วนของพม่า ลาว และทางตอนใต้ของจีน
“นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ได้รับการวางรากฐานและค่อยๆ พัฒนาเมืองขึ้นในด้านต่าง ๆ เช่น มีการตรากฎหมายที่เรียกว่า “มังรายศาสตร์” และมีการการรับเอาพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์เข้ามาเผยแพร่ ก่อให้เกิดการสนใจศึกษาเล่าเรียนในพระพุทธศาสนาเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีการสร้างวัดวาอารามเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาที่โดดเด่นและงดงาม “นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่” ในฐานะเมืองหลวงแห่งอาณาจักรล้านนาได้พัฒนาตัวเองเรื่อยมาจนกระทั่งกลายมาเป็นศูนย์กลางทางด้านวัฒนธรรม หัตถกรรมและศิลปะที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ภูมิภาคแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้า การค้าขาย การเผยแพร่ศาศนา การศึกษา และศิลปวัฒนธรรมมายาวนานกว่า ๗๐๐ ปี โดยในช่วงศตวรรษที่ ๑๕ กลุ่มพ่อค้านักเดินทางได้ใช้เชียงใหม่เป็นเมืองท่าในการขนส่งสินค้าจากประเทศจีนและระหว่างท่าเรือพม่าในมหาสมุทรอินเดีย ดังนั้น ศิลปะวัฒนธรรม และหัตกรรมของจังหวัดเชียงใหม่จึงมีลักษณะที่เกิดจากการผสมผสานกันจากความหลากหลายของชาติพันธ์ที่เข้ามาติดต่อค้าขาย และชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในชุมชนภายในเทือกเขาที่มีมากกว่า ๒๐ เชื้อสาย รวมไปถึงกระเหรี่ยง ม้ง และเย้า ทั้งนี้ ความสำเร็จของจังหวัดเชียงใหม่ในการเก็บรักษาวัฒนธรรมและงานศิลปะที่ล้ำค่า รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นอันโดดเด่น ทำให้นักท่องเที่ยวต่างหลงใหลในมนต์เสน่ห์ของเมืองนี้จนได้รับสมญานามว่า กุหลาบแห่งเมืองเหนือ
มาถึงยุคสมัยปัจจุบัน เนื่องด้วยยุทธศาสตร์ทำเลที่ตั้งที่เชื่อมโยงกับการค้าในอนุภูมิภาคลุ่ม แม่น้ำโขงและจำนวนประชากรที่มากถึง 1.6 ล้านคน จังหวัดเชียงใหม่จึงได้รับสมญานามว่าเป็นเมืองหลวงแห่งที่สองของประเทศไทย เนื่องจากมีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีระบบสาธารณูปโภครองรับอย่างพอเพียง โดยมีสถานศึกษาและโรงพยาบาลขนาดใหญ่จำนวนมาก รวมไปถึงสถานที่สำคัญทางราชการ หน่วยงานระหว่างประเทศ และท่าอากาศยานนานาชาติที่ได้เข้ามาเชื่อมโยงเชียงใหม่กับนานาประเทศ เช่น ภูเก็ต มาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลี และ ฮ่องกง รวมถึงมาเก๊าอีกด้วย
ในด้านงานหัตถกรรมนั้น ในเขตพื้นที่ภาคเหนือหรือล้านนา มีหัตถกรรมอยู่หลากหลายประเภท แต่งานที่โดดเด่นและมีชื่อเสียงของภูมิภาคนี้ ได้แก่ เซรามิก เครื่องเงิน เครื่องเขิน สิ่งทอ และงานไม้แกะสลัก นอกจากนี้ ของตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากหวาย ไม้ไผ่ ไม้มะม่วง ไม้สัก หรือแม้แต่ไม้ชิงชัน ก็กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ โดยจังหวัดเชียงใหม่มีชื่อเสียงทางด้านเครื่องเงิน เครื่องเขิน และงานไม้แกะสลักเป็นอย่างมาก ส่วนจังหวัดลำพูน มีชื่อเสียงในด้านสิ่งทอ ในขณะที่ลำปางมีชื่อเสียงด้านการเป็นแหล่งผู้ผลิตเซรามิกรายใหญ่ที่มีคุณภาพ โดยจำนวนโรงงานผลิตกว่า 200 แห่ง ซึ่งผลิตเครื่องถ้วยเคลือบ ภาชนะดินเผา และวัสดุก่อสร้างต่างๆ
ในปี พ.ศ. 2553 จังหวัดเชียงใหม่เริ่มต้นเดินหน้าแนวคิด “เชียงใหม่เมืองสร้างสรรค์” เพื่อมุ่งส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมในการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ในด้านต่าง ๆ โดยในปีถัดมา จังหวัดเชียงใหม่จึงได้รับการพิจารณาคัดเลือกให้เป็น ๑ ใน ๑๐ เมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โดยเป็น เมืองหัตถกรรมสร้างสรรค์ (Chiang Mai : City of Creative Folk Craft) นอกจากนี้ จังหวัดเชียงใหม่ยังมีความร่วมมือกับเครือข่ายยูเนสโกในด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านอีกด้วย
หัตถกรรม
สิ่งทอ
ฝ้าไหมและผ้าฝ้ายจัดเป็นสิ่งทอที่มีชื่อเสียงของภาคเหนือ โดยมีจุดเด่นที่ลวดลายอันวิจิตรบรรจงที่เกิดจากทักษะในการเย็บปักและทอของช่างที่ต้องอาศัยความชำนาญและความอดทนเป็นอย่างมาก รวมถึงวัตถุดิบคุณภาพดีที่หาได้ภายในท้องถิ่น โดยผ้าฝ้ายมักจะใช้ในการทอเสื้อผ้าสำหรับสตรีโดยเฉพาะกระโปรง ส่วนผ้าไหมมักจะใช้สำหรับตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อใช้ในโอกาสพิเศษ โดยเป็นที่นิยมทั้งในบุรุษและสตรี สำหรับแหล่งที่มีชื่อเสียงด้านการผลิตสิ่งทอได้แก่ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งสินค้าจำนวนมากที่ผลิตจากแหล่งเหล่านี้ ได้มีการนำไปวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้า ร้านค้า และแหล่งซื้อของกลางคืนอย่างไนท์บาซาร์และถนนคนเดิน โดยความสวยงามของสิ่งทอของภาคเหนือได้รับการยอมรับจากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางในวงการแฟชั่น และนำไปใช้เป็นส่วนประกอบในการผลิตเฟอร์นิเจอร์
เซรามิก
อุตสาหกรรมเซรามิกในภาคเหนือ ได้รับอิทธิพลมาจากการปั้นเครื่องปั้นดินเผาในสมัยโบราณ ซึ่งลอกเลียนแบบมาจากการทำเครื่องถ้วยชามจากประเทศจีน โดยเครื่องดินเผาที่มีชื่อเสียงและเป็นเอกลักษณ์ของภาคเหนือโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ศิลาดล สำหรับแหล่งผลิตเซรามิกที่มีชื่อเสียงของเชียงใหม่ ได้แก่ อำเภอหางดง และอำเภอสันกำแพง ส่วนจังหวัดลำปางถือเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องปั้นดินเผา ที่มีโรงงานผลิตมากกว่า 200 แห่ง ดำเนินการผลิตเครื่องปั้นดินเผาหลากหลายประเภท ได้แก่ เครื่องใช้ในครัว สินค้าประดับสวน สุขภัณฑ์ อุปกรณ์สร้างบ้านและตกแต่งบ้าน เป็นต้น
เครื่องเงิน
ถึงแม้ว่าในประเทศไทยไม่มีแหล่งการผลิตแร่เงิน แต่เครื่องเงินของจังหวัดเชียงใหม่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในหมู่ชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยในสมัยโบราณ เงินมักจะนำไปใช้ในการผลิตภาชนะเพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา เช่น สลุง หรือ ขัน ซึ่งนำไปใช้ในการใส่ของไปถวายพระที่วัด โดยมีกรรมวิธีการผลิตที่เป็นเอกลักษณ์คือ การค่อย ๆ ขึ้นรูปด้วยการใช้ฆ้อนตีซ้ำ ๆ ไปบนก้อนเงิน สำหรับแหล่งผลิตเครื่องเงินในจังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีคือ ชุมชนวัวลาย ซึ่งจุดเด่นของชุมชนแห่งนี้ นอกจากการผลิตเครื่องเงินภายในครัวเรือนแล้ว ยังมีวัดศรีสุพรรณ ซึ่งมีอุโบสถเงินแห่งแรกและแห่งเดียวในโลก
เครื่องเขิน
เครื่องเขินจัดเป็นสินค้าที่สำคัญของภาคเหนืออีกประเภทหนึ่ง ซึ่งมีต้นกำเนิดมาจากประเทศพม่า แต่ของภาคเหนือจะมีความแตกต่างด้านน้ำหนักและความหนา สำหรับกระบวนการในการผลิตเครื่องเขินนั้น ค่อนข้างยาก โดยอาจใช้ระยะเวลานานหลายเดือน เครื่องเขินส่วนใหญ่มีโครงเป็นไม้ไผ่ โดยนำมาสาน และทาด้วยยางรักหลาย ๆ ชั้น โดยที่ชั้นแรก ๆ จะทำหน้าที่ในการช่วยยึดโครงสร้างให้เกิดความมั่นคง ส่วนชั้นต่อ ๆ ไปจะเป็นการตกแต่งผิวภาชนะให้เรียบ และชั้นสุดท้ายเป็นการตกแต่งให้สวยงาม ทั้งนี้ ช่างเครื่องเขินล้านนามักนิยมใช้เทคนิคการลงรักสีดำและตกแต่งให้สวยงามด้วยการปิดทอง สำหรับแหล่งผลิตสินค้าเครื่องเขินที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ คือ อำเภอสันกำแพง
ไม้แกะสลัก
ภาคเหนือมีพื้นที่ที่ปกคลุมไปด้วยไม้ป่าเขียวขจี การแกะสลักไม้จึงจัดเป็นหัตถกรรมที่มีความโดดเด่นรูปแบบหนึ่งสามารถสังเกตความสวยงามของไม้แกะสลักที่ใช้ตกแต่งหลังคาหน้าจั่ว หลังคา และประตูของวัดต่างๆ ในปัจจุบันช่างฝีมือแกะสลักไม้ ทำการผลิตสินค้าไม้แกะสลัก รวมถึง เฟอนิเจอร์ ไม้แกะสลักรูปสัตว์ ถาดไม้ และสินค้าไม้อื่นๆ ไม้สักจัดเป็นไม้ที่นิยมนำมาแกะสลัก รวมถึงการใช้ไม้อื่นๆ ที่มีจำนวนการนำมาแกะสลักเพิ่มขึ้น อีกทั้ง บ้านถวายจัดเป็นแหล่งอาศัยของช่างฝีมือแกะสลักไม้และยังเป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าไม้แกะสลักขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดเชียงใหม่
เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน
ด้วยจังหวัดเชียงใหม่นั้น ถูกมองว่าเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการส่งออกรายใหญ่ของประเทศไทยในด้านของตกแต่งบ้านร่วมสมัยและเฟอร์นิเจอร์ตั้งแต่ช่วงกลางปี พ.ศ. 2533 นักออกแบบสมัยใหม่นั้น พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบ ดั้งเดิมให้ดูเรียบง่ายขึ้น โดยการผสมผสานวัตถุดิบต่างๆ เช่น หวาย ไม้ไผ่ ผักตบชวา เช่นเดียวกับการใช้ลวดลายในแบบฉบับล้านนาทั้ง ลายฉลุ การแกะสลัก ฯลฯ ท่านสามารถพบเห็นแกลอรี่ที่แสดงการออกแบบตกแต่งภายในได้บริเวณถนนนิมมานเหมินทร์ ซอย 1
กระดาษสา
กระดาษสาทำมาจากเปลือกไม้ของต้นหม่อนด้วยกรรมวิธีขั้นตอนเดียวกันที่ได้คิดค้นขึ้นจากประเทศจีนเมื่อกว่า 2000 ปีที่แล้ว การนำกระดาษสาไปใช้ประโยชน์นั้น มีหลากหลายรูปแบบตั้งแต่เป็นกระดาษสำหรับเขียน ห่อสิ่งของ ประดับโคมไฟ ไปจนถึงเครื่องมือทางการแพทย์และการตกแต่งศัลยกรรม เราสามารถพบเห็นโรงงานกระดาษสาจำนวนมากได้บริเวณใกล้กับอำเภอสันกำแพงและพบเห็นทั่วไปได้ในจังหวัดเชียงใหม่
เครื่องจักรสาน
ในภาคเหนือของประเทศไทยมีประวัติอันยาวนานของเครื่องจักรสานซึ่งมีหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในวัตถุดิบที่นิยมนำการมาใช้ในการสานคือ ไม้ไผ่ ผลิตภัณฑ์จักรสานที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติเหล่านี้ได้รับความสนใจจากผู้คนในเมืองมากกว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก
ชุมชนหัตถกรรมที่สำคัญ
วัวลาย
ชุมชนวัวลายถือได้ว่าเป็นแหล่งศูนย์รวมการผลิตเครื่องเงินที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณประตูเชียงใหม่ วัดที่มีความสำคัญและเป็นเสมือนศูนย์รวมของชุมชนแห่งนี้คือ วัดหมื่นสารและวัดศรีสุพรรณ นอกจากนั้น ทุกๆวันเสาร์ถนนวัวลายยังมี ถนนคนเดิน ซึ่งได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก
บ้านถวาย
บ้านถวายเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะชุมชนที่มีความสำคัญในการผลิตสินค้าที่ทำจากไม้ ซึ่งตั้งอยู่ทางใต้ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไป 14 กิโลเมตร ชุมชนนี้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักท่องเที่ยวเนื่องโดยเป็นแหล่งสำคัญที่รวบรวมสินค้าที่มีความหลากหลายและมีจุดเด่น ได้แก่ การแกะสลักไม้ เฟอร์นิเจอร์ ของตกแต่งบ้านเรือน และโบราณวัตถุ มากไปกว่านั้นสินค้าประเภทเครื่องประดับเงิน เครื่องเขิน สิ่งทอ เครื่องจักรสาน เครื่องเคลือบดินเผา สามารถพบเห็นได้ภายในชุมชนแห่งนี้เช่นเดียวกัน
บ่อสร้าง/สันกำแพง
“บ่อสร้าง” เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนสันกำแพงนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นแหล่งผลิตร่มอันโด่งดังของจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนั้น สินค้าหัตถกรรมมากมายที่ผลิตในชุมชนแห่งนี้ ยังสามารถพบเห็นได้ทั่วไป รวมไปถึง กระดาษสา โคมไฟ เครื่องทองเหลือง ผ้าไหม และผ้าฝ้าย นอกจากนั้น ทุกๆเดือนมกราคม ชุมชนบ่อสร้างจะเป็นเจ้าภาพในการจัดงานเทศกาลร่มบ่อสร้างขึ้นอีกด้วย
อำเภอแม่แจ่ม
อำเภอแม่แจ่ม ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองเชียงใหม่ เป็นชุมชนที่มีชื่อเสียงในการผลิตผ้าลวดลายตีนจกซึ่งมีลักษณะในการทอผ้าที่โดดเด่น โดยการนำฝ้ายมาผลิตด้วยขั้นตอนอันประณีต จนกระทั่งออกมาเป็นผ้าซิ่นที่งดงามซึ่งเหมาะสำหรับการส่วมใส่ในทุกโอกาส
วัดเกต
วัดเกตเป็นหนึ่งในชุมชนที่มีความเก่าแก่ที่สุดของจังหวัดเชียงใหม่และมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ได้แก่ ชาวจีน ชาวอินเดีย และชาวตะวันตกมาอยู่ร่วมกัน วัดเกตุและพิพิธพรรณประวัติศาสตร์นั้นตั้งอยู่ใจกลางของชุมชน นอกจากนี้ สินค้าหัตถกรรมมากมาย รวมถึงแกลรอรี่และร้านค้ายังสามารถพบเห็นได้ทั่วไปบริเวณริมฝั่งแม่น้ำในชุมชนแห่งนี้
ถนนนิมมานเหมินทร์
ถนนที่มีชื่อเสียงในด้านของความทันสมัยและโดดเด่นที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่คือ ถนนนิมมานเหมินทร์ ซึ่งเต็มไปด้วยร้านค้าแบบบูติกที่จำหน่ายสินค้าหัตถกรรม เสื้อผ้า และเครื่องประดับ เช่นเดียวกับ สถานบันเทิง ร้านกาแฟ ร้านไอศกรีม ร้านออกแบบ และร้านอาหาร มากไปกว่านั้นในบริเวณแห่งนี้ยังเป็นหนึ่งในย่านที่มีร้านกาแฟมากที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย ศูนย์รวมร้านค้าจำหน่ายสินค้าประเภทหัตถกรรมสามารถพบได้ที่ถนนนิมมานเหมินทร์ ซอย 1
ฮอด
อำเภอฮอดมีชื่อเสียงในด้านของการทอผ้าไหมแบบดั่งเดิม ในเรื่องคุณภาพของสินค้านั้น ก็ทัดเทียมกับอำเภอ สันกำแพง นอกจากนั้น ฮอดยังเป็นที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติแม่โถและออบหลวง
ตลาดสดวโรรส
ตลาดสดวโรรสนั้นตั้งอยู่บนถนนวิชยานนท์ใกล้กับแม่น้ำปิง เป็นแหล่งศูนย์กลางทางการค้าย่านคนจีนของจังหวัดเชียงใหม่ ในแต่ละชั้นภายในอาคารของตลาดจะมีสินค้าทุกประเภทที่หลากหลายแตกต่างกันไปตั้งแต่ ผลไม้ อาหารสด สิ่งทอต่างๆ ไปจนถึงของฝากที่ทำจากไม้
บ้านเหมืองกุง
คนในชุมชนนิยมใช้วิธีการขึ้นรูปด้วยมือบนแท่นหมุน เพื่อจะสร้างสรรค์คนโทใส่น้ำดินเผาดั้งเดิม (น้ำต้น) ซึ่งเครื่องปั้นดินเผาในชุมชนแห่งนี้มีการออกแบบให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น
กาดศาลา
กาดศาลาเป็นชุมชนหัตถกรรมที่ชาวบ้านผลิตสินค้าแกะสลักจากไม้แบบดั่งเดิม ชุมชนแห่งนี้ตั้งอยู่ไม่ไกลจากตัวอำเภอหางดงและใกล้กับเมืองเก่าเวียงท่ากานที่อยู่ท่ามกลางทุ่งนา สวนผลไม้และวัดราอาราม
แหล่งร้านค้า
ถนนคนดินวันอาทิตย์
จัดขึ้นทุกๆวันอาทิตย์ในช่วงเวลา 17.00 จนถึง 23.00 น. เริ่มขึ้น ณ บริเวณประตูท่าแพไปยังถึงถนนราชดำเนินและถนนรามา 6 จนไปสิ้นสุดลงที่บริเวณหน้าวัดพระสิงห์ ร้านค้าแผงลอยบนถนนนั้นเต็มไปด้วยสินค้าหัตถกรรม อาหาร และสินค้าท้องถิ่นอีกมากหมาย
ถนนคนเดินวันเสาร์
ถนนคนเดินวันเสาร์หรือถนนคนเดินย่านวัวลายนั้น จะเริ่มขึ้น ณ บริเวณหน้าประตูเชียงใหม่และมีร้านค้าต่างๆเรียงรายไปตามถนนวัวลายทุกๆวันเสาร์ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. จนถึง 23.00 น. จุดเด่นของชุมชนย่านวัวลายคือศูนย์กลางที่รวบรวมสินค้าเครื่องเงินของจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังเต็มไปด้วยแผงลอยที่จำหน่ายอาหารและสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่นมากมาย
บ่อสร้าง
หมู่บ้าน “บ่อสร้าง” เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นแหล่งผลิตร่มที่สำคัญของอำเภอสันกำแพง มากไปกว่านั้นสินค้าหัตถกรรมมากมายที่ถูกผลิตในชุมชนแห่งนี้ ยังสามารถพบเห็นได้ทั่วไป รวมถึง กระดาษสา โคมไฟ เครื่องทองเหลือง ผ้าไหม และผ้าฝ้าย นอกจากนี้ ทุกๆเดือนมกราคม ชุมชนบ่อสร้างจะเป็นเจ้าภาพในการจัดงานเทศกาลร่มบ่อสร้างขึ้นอีกด้วย
ไนท์บาซาร์
กลุ่มร้านค้าแผงลอยที่ตั้งอยู่บนถนนช้างคลาน ซึ่งรู้จักกันดีในนาม “ไนท์บาซาร์” นั้นเต็มไปด้วยแหล่งค้าขายที่ทันสมัยและแกลอรี่หลากหลายประเภททั้งด้าน วัตถุโบราณ สินค้าหัตถกรรมและผ้า นอกจากนี้ ยังสามารถพบเห็นสินค้าไม้แกะสลัก เครื่องเขิน เครื่องเงิน สิ่งทอ เครื่องประดับ และของตกแต่งบ้านได้ที่นี่ รวมถึงมีร้านอาหาร บาร์ และการแสดงพื้นเมืองต่างๆอีกด้วย
งานนิมมานเหมินท์ อาร์ทแอนด์ดีไซน์ พรอมินาด (NAP)
งานนิมมานเหมินท์ อาร์ทแอนด์ดีไซน์ พรอมินาด จะจัดขึ้นในเดือนธันวาคมของทุกปี บนถนนนิมมานเหมินทร์ ซอย 1 เป็นเวลาประมาณ 5-7 วัน โดยจุดเด่นภายในงานนี้ จะเป็นการจัดแสดงสินค้าท้องถิ่น ทั้งของที่ระลึกและของตกแต่งบ้าน รวมไปถึงมีการเล่นดนครีสด ร้านขายอาหารต่างๆมากมาย
หอจัดแสดงสินค้า
หอจัดแสดงสินค้าของสมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือ ตั้งอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าเดอะพลาซ่า ถนนช้างคลาน ใกล้กับย่านไนท์บาซาร์ โดยจุดเด่นของที่แห่งนี้นั้น ประกอบไปด้วยสินค้าประเภทหัตถกรรม ของฝาก และอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน ซึ่งมาจากสมาชิกของสมาคมผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าหัตถกรรมภาคเหนือนั่นเอง